กลับมาอีกครั้งหลังจากหยุดไปนาน จากบทความที่ผ่านมาผมได้แนะนำการเขียนโปรแกรมเครือข่ายโดยใช้ซ็อกเก็ตซึ่งทำงานกับโปรโตคอลทีซีพี (TCP) แต่จริง ๆ แล้วโปรโตคอลบนระดับชั้นทรานสปอร์ต (transport layer) ยังมีโปรโตคอลอีกตัวหนึ่งคือยูดีพี (UDP) ซึ่งเราก็สามารถเขียนโปรแกรมซ็อกเก็ตที่ทำงานกับโปรโตคอลยูดีพีได้ด้วย แต่ก่อนจะไปเขียนโปรแกรมกันในบทความนี้จะขอพูดถึงความแตกต่างระหว่างโปรโตคอลทั้งสองตัวอย่างคร่าว ๆให้ฟังกันก่อนนะครับ
เริ่มจากโปรโตคอลทีซีพีก่อนแล้วกันนะครับ โปรโตคอลนี้เป็นโปรโตคอลที่เรียกว่าเป็นแบบต้องมีการเชื่อมต่อ (connection-oriented) นั่นคือก่อนที่โปรแกรมจะพูดคุยกันได้ โปรแกรมที่จะพูดคุยกันต้องสร้างการสื่อสารระหว่างกันให้ได้เสียก่อน เปรียบเหมือนการพูดคุยกันผ่านทางโทรศัพท์ ซึ่งต้องมีการโทรหากันให้ติดและอีกฝ่ายรับโทรศัพท์ก่อนจึงจะพูดคุยกันได้ อีกประการหนึ่งคือโปรโตคอลทีซีพีเป็นโปรโตคอลที่มีความน่าเชื่อถือในการสื่อสาร กล่าวโดยคร่าว ๆ คือมันจะช่วยดูแลให้การรับส่งข้อมูลระหว่างโปรแกรมที่กำลังติดต่อกันเป็นได้อย่างถูกต้อง ซึ่งรายละเอียดว่ามันทำอย่างไรนั้นก็ขอให้ไปอ่านเพิ่มเติมเอานะครับในเรื่องการสื่อสารข้อมูลและระบบเครือข่าย
ส่วนยูดีพีนั้นเป็นโปรโตคอลแบบที่ไม่ต้องมีการเชื่อมต่อก่อน (conectionless) คือก่อนที่โปรแกรมทั้งสองฝ่ายจะพูดคุยกันไม่จำเป็นต้องสร้างการเชื่อมต่อกันให้ได้ก่อนเหมือนกับที่ทีซีพีต้องทำ ถ้าจะเปรียบการสื่อสารประเภทนี้กับชีวิตประจำวันของเราก็คือการส่งจดหมายทางไปรษณีย์ครับ ถ้าคุณจะส่งจดหมายถึงเพื่อนคุณ คุณก็ลงมือเขียนได้เลยและเอาไปหยอดตู้ไปรษณีย์โดยคุณไม่ต้องติดต่อบอกเพื่อนคุณก่อนว่าคุณจะส่งจดหมายไปหา โปรโตคอลยูดีพีจัดเป็นโปรโตคอลที่ไม่น่าเชื่อถือเมื่อเทียบกับทีซีพี กล่าวคือมันไม่รับประกันความถูกต้องในการรับส่งข้อมูล อาจมีข้อมูลหายได้ในระหว่างการรับส่ง หรือแม้แต่ข้อมูลอาจถูกส่งมาในลำดับที่ไม่ถูกต้อง
ถ้าจะเปรียบเทียบให้เห็นขัดเจนก็ขอให้นึกถึงว่าการพูดคุยผ่านโทรศัพท์มีความน่าเชื่อถือกว่าการส่งจดหมาย เพราะมันรับประกันว่าผู้ที่พูดคุยกับเราจะได้รับข้อความจากเราแน่ หรือในกรณีที่เราได้ยินสิ่งที่เขาพูดไม่ชัดเราสามารถบอกให้เขาพูดใหม่ได้ แต่การส่งจดหมายมีโอกาสที่จดหมายจะส่งไปไม่ถึงผู้รีบ หรือผู้รับอาจเข้าใจผิดจากข้อความที่เราเขียนได้
พูดมาถึงตรงนี้หลายคนอาจบอกว่างั้นไม่ต้องสนใจไม่ต้องใช้ยูดีพีแล้วกัน มันจะมีไปทำไมเนี่ย คำตอบก็คือโปรโตคอลยูดีพีทำงานเร็วกว่าทีซีพีครับ เพราะมันไม่ต้องตรวจสอบอะไรมากมายเหมือนทีซีพี ดังนั้นยูดีพีจะเหมาะกับงานที่ไม่ต้องส่งข้อมูลมากนัก เพราะข้อมูลที่มีขนาดไม่ใหญ่โอกาสที่จะผิดพลาดก็มีน้อย หรือแม้แต่งานที่ต้องส่งข้อมูลขนาดใหญ่แต่ต้องการความรวดเร็วอย่างวีดีโอสตรีมมิง ก็ใช้โปรโตคอลยูดีพีนี้ในการรับส่งข้อมูลเช่นกัน เพราะมันต้องการความรวดเร็วซึ่งทีซีพีไม่สามารถทำได้ แต่เรื่องความน่าเชื่อถือนั้นจะมีการใช้โปรโตคอลตัวอื่นมาทำงานร่วมกับยูดีพี
โอเคครับ ถึงตรงนี้ก็คงเข้าใจความแตกต่างระหว่างทีซีพีและยูดีพีอย่างคร่าว กันแล้วนะครับ บทความต่อไปจะได้พูดถึงการเขียนโปรแกรมกันนะครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น