วันพฤหัสบดีที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2558

Java RMI ตอนที่ 3: การเขียนโปรแกรมฝั่งไคลเอนต์และการรันโปรแกรม

มาถึงตอนสุดท้ายซะที ส่วนใครที่ยังไม่ได้อ่านตอน 1 และตอน 2 ก็เชิญไปอ่านกันก่อนนะครับ ในตอนนี้เราจะมาเขียนโปรแกรมฝั่งไคลเอนต์และลองรันโปรแกรมกันครับ มาดูโปรแกรมฝั่งไคลเอนต์กันก่อนครับ

 1 import java.rmi.*;
 2 import java.net.*;
 3 import java.rmi.registry.LocateRegistry;
 4 import java.rmi.registry.Registry;
 5
 6
public class MyMathClient
 7 {
 8    public static void main(String[] args)
 9    {
10       if (args.length == 0)
11       {
12          System.err.println("Usage java MyMathClient <server-hostname>");
13       }
14       try
15       {
16          Registry registry = LocateRegistry.getRegistry(args[0]);
17          MyMath stub = (MyMath) registry.lookup("MyMathServer");
18          System.out.println(stub.add(3,2));

19         
20       }
21       catch (Exception e)
22       {
23          System.err.println("System Exception" + e);
24       }
25    }
26 }

จากโปรแกรมในบรรทัดที่ 16  เป็นการค้นหาอาร์เอ็มไอรีจิสตรี (RMI registry) ในเครื่องที่อ็อบเจกต์เซิร์ฟเวอร์รันอยู่ เราจะรันโปรแกรมนี้โดยระบุชื่อเครื่องเซิร์ฟเวอร์มาเป็นพารามิเตอร์บรรทัดคำสั่ง (command line parameter) และส่งชื่อเครื่องเซิร์ฟเวอร์นี้ให้กับเมท็อด getRegistry() บรรทัดที่ 17 ค้นหาอ็อบเจกต์โดยระบุชื่ออ็อบเจกต์เป็นชื่อเดียวกันกับที่ฝั่งเซิร์ฟเวอร์ลงทะเบียนไว้ ในที่นี้คือ MyMathServer ซึ่งที่เราจะได้กลับมาจากการเรียกเมท็อด lookup() ในบรรทัดนี้ก็คืออ็อบเจ็กต์เรฟเฟอร์เรนซ์ (object reference) ไปยังอ็อบเจกต์บนฝั่งเซิร์ฟเวอร์ ให้สังเกตว่าเราใช้ชื่อของอินเทอร์เฟซ (interface) คือ MyMath ไม่ใช่ชื่อของคลาสผู้รับใช้ (servant class) MyMathImpl หลังจากนี้เราก็สามารถเรียกใช้เมท็อดของอ็อบเจกต์บนฝั่งเซิร์ฟเวอร์ได้ราวกับอ็อบเจกต์นั้นอยู่บนเครื่องเดียวกับไคลเอนต์ ดังแสดงในบรรทัดที่ 18 ซึ่งเป็นการเรียกใช้เมท็อด add()

คราวนี้ก็มารันโปรแกรมกันครับ เริ่มจากรัน rmiregistry ก่อน วันนี้ขอแสดงการรันบน Mac นะครับ คำสั่งที่ใช้ก็คือ rmiregistry & เพื่อให้โปรแกรม rmiregistry ไปทำงานอยู่หลังฉาก ดังแสดงในรูปต่อไปนี้ครับ



ถ้าใช้ Windows ก็เปิดคอมมานด์พรอมพท์ของวินโดวส์แล้วก็ใช้ start rmiregistry ได้ครับ 

หลังจากนั้นก็รันโปรแกรมเซิร์ฟเวอร์ก็เหมือนการรันโปรแกรมปกติครับคือ 

java MyMathServer

ก็จะได้ผลลัพธ์ตามรูป





และจากนั้นก็รันไคลเอนต์ java MyMathClient ซึ่งก็จะได้ผลลัพธ์ตามรูปครับ 



เอาล่ะครับจบแล้ว ก็หวังว่าจะเป็นความรู้เบื้องต้นให้ทำตามแล้วนำไปต่อยอดกันต่อได้นะครับ...

สำหรับใครที่ไม่อยากป้อนโปรแกรมเองก็สามารถดาวน์โหลดได้จาก GitHub ครับ ถ้าใครโหลดไปแล้วจากตอนที่แล้วก็ไม่ต้องโหลดแล้วนะครับ 









วันพุธที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2558

Java RMI ตอนที่ 2: การเขียนโปรแกรมฝั่งเซิร์ฟเวอร์

หลังจากเข้าใจว่าจาวาอาร์เอ็มไอ (Java RMI) คืออะไรแล้วจากตอนที่ 1 ในตอนนี้เราจะเริ่มมาพัฒนาโปรแกรมกันครับ โดยเราจะเริ่มจากฝั่งเซิร์ฟเวอร์กันก่อน โดยเราจะต้องคิดว่าอ็อบเจกต์ที่เราจะพัฒนาขึ้นจะให้บริการอะไรบ้าง โดยเราจะต้องเขียนรายการแอ็บแสตรกท์เมท็อด (abstract method) ที่จะให้บริการข้ามเครื่องในรูปแบบอินเทอร์เฟซ (interface) และไม่ใช่อินเทอร์เฟซธรรมดาจะต้องเป็นอินเทอร์เฟซระยะไกล (remote interface) ด้วย การประกาศอินเทอร์เฟซระยะไกลทำได้ง่ายมากด้วยการใช้รูปแบบการประกาศอินเทอร์เฟซของจาวาตามปกติ แต่ให้อินเทอร์เฟซนั้นเอ็กซ์เทนด์ (extend) อินเทอร์เฟซที่จาวาเตรียมไว้ให้แล้วที่ชื่อว่า Remote สรุปก็คือรูปแบบการประกาศอินเทอร์เฟซระยะไกลมีรูปแบบดังนี้

interface <interface name> extends Remote {...}

ไม่เอาดีกว่าอธิบายแบบนี้อาจไม่เข้าใจ มาดูตัวอย่างกันดีกว่า สมมติเราจะสร้างอ็อบเจกต์ที่จะให้บริการขึ้นมาสักตัวหนึ่ง เราจะสร้างอะไรกันดีครับ เอา Hello Wolrd ดีไหม... ไม่ดีนะครับน่าเบื่อ เอาอย่างนี้แล้วกันสร้างอ็อบเจกต์ที่ให้บริการบวกลบเลขดีไหมครับ น่าเบื่อน้อยลงหน่อย เอาตามนี้นะครับ มาสร้างกันเลย จากอ็อบเจกต์ที่เราต้องการสามารถสร้างอินเทอร์เฟซระยะไกลได้ดังนี้

1 import java.rmi.Remote;
2 import java.rmi.RemoteException;
3 interface MyMath extends Remote {
  public int add(int num1, int num2) throws RemoteException;
  public int subtract(int num1, int num2) throws RemoteException;
6 }


จากโค้ดตัวอย่างก็คือเราสร้างอินเทอร์เฟซระยะไกลชื่อ MyMath ซึ่งมีแอ็บสแตรกท์เมท็อดสองตัวคือ add() และ subtract() ให้สังเกตว่าแต่ละเมท็อดที่เราจะให้ถูกเรียกใช้จากระยะไกลได้จะต้องโทรว์ (throw) เอ็กซ์เซปชัน (Exception) ที่ชื่อว่า RemoteException

ตอนนี้เราจะเริ่มสร้างคลาสกันครับ ซึ่งคลาสที่เราจะสร้างบนฝั่งเซิร์ฟเวอร์นี้เรามักจะสร้างแบ่งเป็นสองคลาสครับ คือคลาสที่เรียกว่าคลาสผู้รับใช้ (servant class) และคลาสผู้บริการ (server class) คลาสผู้รับใช้เป็นคลาสที่เราอิมพลีเมนต์อินเทอร์เฟซ หรือพูดง่าย ๆ ก็คือมันเป็นคลาสที่สร้างอ็อบเจกต์ที่จะถูกเรียกใช้จากไคลเอนต์ นี่คือเหตุผลที่เราเรียกมันว่าคลาสผู้รับใช้ นอกจากนี้สตับและสเกเลตันจะถูกสร้างจากคลาสนี้เช่นกัน ส่วนคลาสผู้บริการจะเป็นคลาสที่ใช้ในการลงทะเบียนคลาสผู้รับใช้เข้ากับอาร์เอ็มไอรีจีสตรี (RMI Registry) เอาละครับมาเขียนคลาสผู้รับใช้กันดีกว่า

 1 import java.rmi.RemoteException;
 2 import java.rmi.server.UnicastRemoteObject;
 3 public class MyMathImpl extends UnicastRemoteObject implements MyMath  {
 4    public MyMathImpl() throws RemoteException {
 5      super();
 6    }
 7    public int add(int num1, int num2) throws RemoteException  {
 8       return num1+num2;
 9    }
10    public int subtract(int num1, int num2)throws RemoteException {
11       return num1-num2;
12    }
13
14
}

ข้อสังเกตสำหรับคลาสนี้มีสามเรื่องครับ เรื่องแรกก็คือชื่อของคลาส (บรรทัดที่ 3) นักเขียนโปรแกรมที่พัฒนาจาวาอาร์เอ็มไอนิยมตั้งกันคือคลาสจะมีชื่อเดียวกับอินเทอร์เฟซตามด้วย Impl จากโปรแกรมที่เรากำลังพัฒนาอินเทอร์เฟซของเรามีชื่อว่า MyMath ดังนั้นเราจึงตั้งชื่อคลาสนี้ว่า MyMathImpl เรื่องที่สองก็คือคลาสนี้สืบทอดคุณสมบัติมาจากคลาส UnicastRemoteObject ซึ่งเป็นคลาสที่จาวาเตรียมเอาไว้เพื่อสนับสนุนการเรียกอ็อบเจกต์ข้ามเครื่อง เรื่องที่สามก็คือเราต้องมีคอนสตรักเตอร์ (constructor) ที่โทรว์ RemoteException และเรียกคอนสตรักเตอร์ของคลาส UnicastRemoteObject เอาละครับเรียบร้อยครับ เห็นไหมครับว่าง่ายมาก

[หลังจากเราเขียนคลาสผู้รับใช้เสร็จแล้วเราก็คอมไพล์เพื่อให้ได้ MyMathImpl.class ครับ ถ้าเราใช้จาวาก่อนเวอร์ชัน 5 เราก็ใช้คำสั่งนี้ในการสร้างสตับและสเกเลตันได้เลยครับ

rmic MyMathImpl

เราจะได้ไฟล์ชื่อ MyMathImpl_Stub.class ซึ่งไฟล์นี้จะทำหน้าที่เป็นทั้งสตับและสเกเลตัน 

ซึ่งผมว่าตอนนี้เราคงไม่ใช้ภาษาจาวาเก่าแบบนั้นแล้วนะครับ ดังนั้นถ้าใครใช้ Java 5  ขึ้นมาก็ข้ามไปได้เลยนะครับ เพราะในจาวารุ่นใหม่จาวารันไทม์ (Java Runtime) จะจัดการเรื่อง Stub-Skeleton ให้

]

คราวนี้มาดูคลาสผู้ให้บริการกัน

 1 import java.net.*;
 2 import java.rmi.*;
 3 import java.rmi.registry.Registry;
 4 import java.rmi.registry.LocateRegistry;
 5 public class MyMathServer 
 6 {
 7    public static void main(String[] args)
 8    {
 9      
10       try
11       {
12          MyMathImpl myMathObj = new MyMathImpl();
13          Registry registry = LocateRegistry.getRegistry();
14          registry.bind("MyMathServer", myMathObj);
15          System.out.println("MyMath Server ready");
16       }
17       catch (Exception re) {
18          System.out.println("Execption in MyMathServer: " + re);
19       }
20    }
21 }

จากโปรแกรมจะเห็นว่าเราสร้างอ็อบเจกต์เรฟเฟอร์เรนซ์ (object referennce) ของคลาส MyMathImpl ในบรรทัดที่ 12 จากนั้นบรรทัดที่ 13 ประโยค

Registry registry = LocateRegistry.getRegistry();

เป็นการค้นหาอาร์เอ็มไอรีจิสตรีที่รันอยู่ในระบบ นั่นหมายความว่าก่อนจะรันโปรแกรมเซิร์ฟเวอร์เราต้องรันอาร์เอ็มไอรีจิสตรีก่อนซึ่งจะรันยังไงนั้นจะอยู่ในตอนต่อไปครับ บรรทัดที่ 14 ประโยค

 registry.bind("MyMathServer", myMathObj);

เป็นการลงทะะเบียนอ็อบเจกต์เรฟเฟอร์เรนซ์ดังกล่าวในชื่อ MyMathServer ซึ่งโปรแกรมฝั่งไคลเอนต์ที่เราจะเขียนในตอนต่อไปจะค้นหาอ็อบเจกต์นี้โดยใช้ชื่อนี้

เอาล่ะครับตอนนี้เราก็เสร็จงานด้านเซิร์ฟเวอร์แล้ว ตอนต่อไปเราจะไปเขียนไคลเอนต์ แล้วก็ลองรันกันดูครับ โปรดอดใจสักนิดหนึ่งนะครับ ขอพักหน่อย ถ้าใครไม่อยากพิมพ์โปรแกรมเองสามารถดาวน์โหลดโค้ดได้จาก Github ครับ 


วันอังคารที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2558

Java RMI ตอนที่1: Java RMI คืออะไร

การเรียกใช้ฟังก์ชันที่อยู่บนคอมพิวเตอร์เครื่องอื่นในปัจจุบันกลายเป็นเรื่องที่เราใช้กันแทบจะเป็นปกติในปัจจุบันกันแล้ว เช่นเราเขียนโปรแกรมเรียกใช้ฟังก์ชันของ Google Maps  เพื่อนำแผนที่มาใช้กับโปรแกรมของเราโดยเราไม่ต้องรู้เลยว่า แผนที่นั้นจัดเก็บอย่างไร ฟังก์ชันที่เราเรียกใช้เขียนขึ้นมาด้วยภาษาอะไร และโปรแกรมแผนที่ทำงานอยู่บนระบบปฏิบัติการอะไร ซึ่งเทคโนโลยีที่เราใช้เป็นพื้นฐานของการทำงานดังกล่าวในปัจจุบันก็คือเทคโนโลยีที่เรียกว่าเว็บเซอร์วิส (web service) นั่นเอง ซึ่งผมก็หวังว่าจะหาเวลามาเขียนให้ได้อ่านกันสักวันหนึ่ง 

จริง ๆ แล้วการเรียกใช้ฟังก์ชันที่ทำงานอยู่บนเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องอื่นในเครือข่ายไม่ได้เพิ่งมาเกิดขึ้นเพราะเว็บเซอร์วิส แต่แนวคิดดังกล่าวมีมานานแล้ว และก็มีเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อนำมาใช้ในงานดังกล่าว ซึ่งเว็บเซอร์วิสก็ถูกพัฒนาขึ้นมาโดยใช้เทคโนโลยีเหล่านี้เป็นฐาน เทคโนโลยีดังกล่าวเริ่มมาตั้งแต่ การเรียกโพรซีเยอร์จากระยะไกล (Remote Procedure Call) หรือเรียกย่อ ๆ ว่าอาร์พีซี (RPC)  การเรียกใช้เมท็อดจากระยะไกล (Remote Method Invocation) หรือเรียกย่อ ๆ ว่าอาร์เอ็มไอ (RMI) และ Common Object Request Broker Architecture  (CORBA) (อันนี้ขอไม่แปลแล้วกันนะครับ ยังคิดคำแปลที่ถูกใจไม่ได้:)) เป็นต้น ซึ่งผมหวังว่าจะมีโอกาสได้เขียนให้ได้อ่านกันต่อไป แต่ในวันนี้ผมจะมาพูดถึง อาร์เอ็มไอครับ 

อาร์เอ็มไอก็คือเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อให้เราเขียนโปรแกรมเพื่อเรียกใช้เมท็อดจากออบเจ็กต์ที่อยู่บนคนละเครื่องกับโปรแกรมของเรา โดยอาร์เอ็มไอจะช่วยให้การเรียกใช้ออบเจ็กต์ดังกล่าวทำได้ในลักษณะที่เหมือนกับการเรียกใช้เมท็อดจากอ็อบเจกต์ที่อยู่บนเครื่องเดียวกันกับโปรแกรมของเรา นั่นคือ อาร์เอ็มไอช่วยให้เราไม่ต้องไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องพื้นฐานของระบบเครือข่าย เช่นซ็อกเก็ตไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกับการแปลงข้อมูลเพื่อให้อยู่ในรูปแบบที่ส่งผ่านเครือข่ายได้ ไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกับการที่จะต้องเขียนโปรแกรมเพื่อค้นหาและเรียกใช้เมท็อดจากออกเจ็กต์ที่อยู่ในเครือข่ายด้วยตัวเราเอง (ซึ่งถ้าต้องทำเองนี่ไม่สนุกแน่ครับ) ดังนั้นเราจึงสามารถที่จะมุ่งความสนใจไปในการเขียนโปรแกรมเพื่อแก้ปัญหาที่เราต้องการเพียงอย่างเดียว   

แน่นอนครับ ภาษาจาวา (Java) ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นมาให้เป็นภาษาที่รองรับการเขียนโปรแกรมผ่านเครื่อข่ายย่อมไม่พลาดที่จะสนับสนุนแนวคิดนี้ และก็มีเทคโนโลยีที่เรียกว่า จาวาอาร์เอ็มไอ (Java RMI) มาให้เราได้ใช้กันจาวาอาร์เอ็มไอ จะทำให้อ็อบเจกต์ที่ถูกเขียนขึ้นมาด้วยภาษาจาวาแต่ทำงานกันอยู่บนคนละเครื่องในเครือข่าย สามารถที่จะค้นหากันและเรียกใช้กันได้เหมือนกับว่ามันทำงานอยู่บนเครื่องเดียวกัน โดยสถาปัตยกรรมของจาวาอาร์เอ็มไอแสดงได้ดังรูปต่อไปนี้ครับ 


RMI Architecture


จากรูปขออธิบายคร่าว ๆ ดังนี้นะครับไคลเอนต์ (Client)  คือโปรแกรมที่เรียกใช้อ็อบเจกต์ที่อยู่บนอีกเครื่องหนึ่ง เซิร์ฟเวอร์ (Server) ก็คืออ็อบเจกต์ที่ต้องการจะเรียกใช้ สตับ (Stub) คือส่วนที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของอ็อบเจกต์ที่เราจะเรียกใช้ คือไคลเอนต์จะเรียกใช้อ็อบเจกต์บนฝั่งเซิร์ฟเวอร์ผ่านทางสตับ ส่วนสเกเลตัน (Skeleton) คือตัวแทนของไคลเอนต์บนฝั่งเซิร์ฟเวอร์ สเกเลตันจะเป็นส่วนที่เรียกใช้อ็อบเจกต์บนฝั่งเซิร์ฟเวอร์ ถ้าจะสรุปให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือไคลเอนต์เรียกใช้อ็อบเจกต์ที่ต้องการผ่านทางสตับ สตับจะติดต่อกับสเกเลตันเพื่อให้เรียกใช้อ็อบเจกต์ดังกล่าว 

ทั้งสตับและสเกเลตันยังมีหน้าที่ในการแปลงข้อมูลการเรียกใช้ และค่าที่ส่งกลับมาจากการทำงานของอ็อบเจกต์ให้อยู่ในรูปที่ส่งผ่านเครือข่ายได้ (ข้อมูลที่ส่งผ่านเครือข่ายจะต้องอยู่ในรูปของสายธารตัวอักษร (stream of byte)) และแปลงข้อมูลที่ได้รับจากเครือข่ายให้กลับมาในรูปแบบที่โปรแกรมเข้าใจ ซึ่งการทำงานดังกล่าวเรียกว่า มาร์แชล (Marshal) และ อันมาร์แชล (Unmarshal) ตามลำดับ  

ตัวอย่างการทำงานของสตับและสเกเลตันแสดงได้ดังตัวอย่างนี้ สมมติโปรแกรมฝั่งไคลเอนต์เขียนประโยคต่อไปนี้เพื่อเรียกใช้อ็อบเจกต์บนฝั่งเซิร์ฟเวอร์ 

obj.add(1, 2);  

สตับจะแปลงประโยคดังกล่าวให้อยู่ในรูปสายธารของตัวอักษรเพื่อส่งผ่านเครือข่ายไป เมื่อการเรียกใช้ดังกล่าวไปถึงฝั่งเซิร์ฟเวอร์ สเกเลตันจะแปลงประโยคดังกล่าวกลับมาและเรียกใช้เมท็อด add()  ถ้าเมท็อด add() ต้องส่งค่ากลับให้ไคลเอนต์ สเกเลตันจะแปลงค่าที่จะส่งกลับนั้นให้อยู่ในรูปของสายธารตัวอักษร และส่งผ่านเครือข่ายไปเมื่อข้อมูลมาถึงฝั่งไคลเอนต์ สตับก็จะแปลงข้อมูลกลับให้อยู่ในรูปที่โปรแกรมเข้าใจและส่งผ่านให้ไคลเอนต์ต่อไป 

อีกสองส่วนจากรูปที่ยังไม่ได้กล่าวถึงคือ รีจิสตรีอินเทอร์เฟซ (registry interface) และอาร์เอ็มไอรีจิสตรี (RMI registry) ซึ่งจะขอเรียกสั้น ๆ ว่ารีจิสตรี รีจิสตรีถ้าพูดง่าย ๆ ก็คือโปรแกรมที่ช่วยลงทะเบียนและค้นหาอ็อบเจ็กต์ กล่าวคืออ็อบเจกต์ที่ต้องการจะให้บริการผ่านเครือข่ายจะต้องลงทะเบียนกับรีจิสตรี ซึ่งการลงทะเบียนกับรีจิสตรีนั้นก็คือการเชื่อมชื่อของอ็อบเจกต์เข้ากับอ็อบเจกต์เรฟเฟอร์เรนซ์ (object reference) ซึ่งเมื่อไคลเอนต์ต้องการค้นหาอ็อบเจกต์ ก็จะเอาชื่ออ็อบเจกต์ที่ต้องการมาค้นในรีจิสตรี  และรีจิสตรีก็จะส่งอ็อบเจกต์เรฟเฟอร์เรนซ์กลับไปให้กับไคลเอนต์ เพื่อให้ไคลเอนต์เรียกใช้อ็อบเจกต์ที่ต้องการได้ ไคลเอนต์และเซิร์ฟเวอร์จะติดต่อกับรีจิสตรีผ่านทางรีจิสตรีอินเทอร์เฟซ 

ถึงตรงนี้ถ้ายังงงอยู่ไม่เป็นไรครับ ผมคิดว่าน่าจะเห็นภาพชัดเจนขึ้นเมื่อเราได้เขียนโปรแกรมกันจริง ๆ ในตอนต่อไป แต่ตอนนี้ผมขอตอบคำถามที่หลายคนอาจจะสงสัยกันนะครับว่า สรุปแล้วการเขียนโปรแกรมจาวาอาร์เอ็มไอนี่เราต้องเขียนโปรแกรมตรงไหนบ้าง เราต้องเขียนโปรแกรมสตับและสเกเลตันเองหรือเปล่า อาร์เอ็มไอรีจิสตรีจะไปหามาจากไหน คำตอบคืออย่างนี้ครับ โปรแกรมอาร์เอ็มไอรีจิสตรีจะมากับจาวาเจดีเค  (Java JDK) ที่เราโหลดมาใช้ในการพัฒนาโปรแกรมด้วยภาษาจาวาอยู่แล้ว ส่วนสตับและสเกเลตันเราก็ไม่ต้องเขียนเองครับ ถ้าเราใช้จาวาก่อนเวอร์ชัน 5 เราจะใช้โปรแกรมที่ชื่อว่าอาร์เอ็มไอซี (rmic) ช่วยสร้างให้เรา ซึ่งโปรแกรมนี้ก็มากับจาวาเจดีเคอีกเช่นกัน แต่ตั้งแต่จาวาเวอร์ชัน 5.0 เป็นต้นไปเราไม่ต้องใช้ rmic แล้วนะครับเพราะสตับและสเกเลตันจะถูกจัดการโดนจาวารันไทม์ (Java Runtime)

สรุปก็คือในการเขียนจาวาอาร์เอ็มไอเราแทบจะเขียนโปรแกรมภาษาจาวาไปตามปกติ ผมใช้คำว่าแทบจะก็เพราะมันอาจจะมีบางส่วนที่ต้องศึกษาเพิ่มเติม เช่นการติดต่อกับรีจิสตรีอินเทอร์เฟซ การเขียนอินเทอร์เฟซเพื่อให้รองรับการเรียกใช้แบบข้ามเครื่องเป็นต้น 

เมื่อถึงตรงนี้ก็หวังว่าจะเห็นภาพรวมของจาวาอาร์เอ็มไอกันแล้วนะครับ ผมก็ขอจบแต่เพียงเท่านี้ก่อน เขียนมานานจนเมื่อยแล้ว พบกันใหม่เมื่อชาติต้องการ เอ๊ยไม่ใช่พบกันใหม่ในตอนที่สองครับ เราจะมาสร้างอ็อบเจกต์บนฝั่งเซิร์ฟเวอร์กัน